Knowledge

ASMR มีผลต่อการนอนหลับจริงหรือ?

อาการนอนไม่หลับ หนึ่งในปัญหาใหญ่ระดับโลก จากสถิติพบว่ากว่า 40% ของคนไทยตกอยู่ในสภาวะนี้และมีกว่า 1 ใน 5 ของประชากรโลกที่มีพฤติกรรมทำงานตอนกลางคืน เมื่อบวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่โหมกระหน่ำเข้ามาส่งเสริมความเครียด ทำให้ปัญหานอนไม่หลับลุกล่ามไปใหญ่ ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่หนึ่งในวิธีฮอตฮิตที่สุดสำหรับช่วงนี้ ก็คือ ASMR คลิปยูทูปรูปแบบใหม่ ที่จะเข้ามาเปิดโลกศาสตร์ของเสียงให้กับคุณ

มาทำความรู้จักกันดีกว่า ASMR คืออะไร?

ASMR ย่อมาจากคำว่า Autonomous Sensory Meridian Response แปลเป็นไทยได้ว่า อาการตอบสนองต่อประสาทที่รับความรู้สึกอัตโนมัติ แต่พูดแบบนี้ก็อาจเข้าใจยากเกินไป ฉะนั้นให้ง่ายต่อความเข้าใจ ASMR เป็นความรู้สึกผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูกที่เกิดจากการได้ยิน มองเห็นหรือสัมผัสบางสิ่งบางอย่าง โดยตัวอย่าง ASMR ที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวันก็อย่างเช่น เสียงฝนตก เสียงลม เสียงคลื่นกระทบ เสียงเพลงเบา ๆ หรือการนั่งเหม่อลอยดูนั่นนี่แบบไม่คิดอะไร

ASMR ช่วยเรื่องอะไรบ้าง

วัตถุประสงค์ของการสร้างคลิป ASMR ขึ้นมานั้น ก็เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียด ช่วยให้นอนหลับง่าย สบายขึ้น อีกทั้งใน ASMR หลาย ๆ คลิปยังนำเสียงธรรมชาติ มาใส่ White Noise คลื่นเสียงบำบัดที่ช่วยกระตุ้นระบบความจำ สร้างสมาธิและการจดจ่อให้ดีมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้เสียงจาก ASMR ก็ยังช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังได้ค่ะ

ASMR มีผลกับการนอนหลับอย่างไร

กล่าวกันว่าเสียงจากคลิป ASMR ช่วยให้เราสงบ ผ่อนคลายและคลายกังวล เพราะเสียงเหล่านี้จะถูกนำมาผสานกับความถี่คลื่นสมองตั้งแต่คลื่นเดลต้าไปจนถึงอัลฟ่า โดยเรามีผลงานวิจัยมารองรับข้อสันนิษฐานดังนี้ 

  • Giulia Poerio นักวิจัยคนแรก ๆ ที่ทำการศึกษาเรื่อง ASMR เพื่อเข้าใจถึงกระบวนการทำงานของสมองและอิทธิพลของเสียง ทำการทดลองโดยให้กลุ่มตัวอย่างฟังคลิป ASMR ยาวนานระยะเวลาหนึ่ง ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างมีอัตราการเต้นของหัวใจลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ได้ดู นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าพวกเขาเหล่านั้นล้วนรู้สึกผ่อนคลายและหลับง่ายขึ้น 
  • งานวิจัยจากมหาลัย Swansea ประเทศอังกฤษ นำผู้ร่วมทดลองกลุ่มหนึ่งมาฟังคลิปเสียง ASMR เป็นระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมงแล้วให้ทำแบบสอบถาม ผลปรากฏว่ากว่า 80% ของผู้ร่วมทดลองกล่าวว่ามันช่วยลดอาการซึมเศร้าและอารมณ์ด้านลบได้ และอีกกว่า 38% กล่าวว่าอาการปวดเรื้อรังของพวกเขานั้นลดลง 
  • อีกหนึ่งการทดลองที่น่าสนใจจากมหาลัย Sheffield ประเทศอังกฤษ พวกเขาได้แบ่งกลุ่มทดลองเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งให้ดูคลิป ASMR และอีกกลุ่มหนึ่งให้ดูคลิปในประเภทอื่น ๆ ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้ดูคลิป ASMR นั้น มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ลดลงเฉลี่ย 3.14 bpm รู้สึกสงบและผ่อนคลาย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดู

เห็นได้ชัดว่าเสียงสามารถส่งเสริมการทำงานของสมองและสุขภาพจิตได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามต้องใช้ระดับความดังของเสียงที่เหมาะสมด้วย เพราะหากดังเกินไป อาจส่งผลเสียให้เกิดการหลั่งคอร์ติซอล​หรือฮอร์โมนความเครียดได้

บทสรุป

แม้ว่า ASMR จะให้ประโยชน์ได้มากขนาดนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนมากมายที่ยังไม่เข้าใจ ฟังแล้วไม่อิน หลายคนถึงขั้นรำคาญไปเลยก็มี อย่างไรก็ดีการฟัง ASMR ที่ได้ผล อันดับแรกต้องทำการเปิดใจก่อนค่ะ ต้องฟังไปนาน ๆ เมื่อเราจดจ่อกับเสียงและเริ่มมีจินตนาการตามเสียงนั้นแล้ว ร่างกายและสมองก็จะค่อย ๆ ผ่อนคลายขึ้นมานั่นเองค่ะ